คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดปทุมธานี
: 02-529-3829
ประวัติคณะ

 

คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดปทุมธานี เดิมเป็นหมวดวิชาหัตถศึกษา สังกัดวิทยาลัยครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดสอนระดับ ป.กศ. และ ป.กศ.สูง วิชาที่เปิดสอนเป็นวิชาพื้นฐาน คือ วิชาหัตถศึกษา และเปิดสอนเป็นวิชาโท ให้กับนักศึกษาทั้งภาคปกติและภาคนอกเวลา (ภาคค่ำ) มีอาคารโรงฝึกงานหนึ่งหลัง


พ.ศ. 2518 วิทยาลัยครูทั่วประเทศได้รับการยกฐานะตามพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2518 มีผลทำให้วิทยาลัยครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลง จากหมวดวิชาหัตถศึกษา เป็นภาควิชาหัตถศึกษาและอุตสาหกรรมศิลป์ สังกัดคณะวิชาวิทยาศาสตร์ ต่อมาได้เรียกชื่อสั้นๆ เป็น “ภาควิชาอุตสาหกรรมศิลป์”


พ.ศ. 2526 ภาควิชาอุตสาหกรรมศิลป์ ได้เปิดสอนระดับปริญญาครุศาสตรบัณฑิต (ค.บ.) วิชาเอกอุตสาหกรรมศิลป์ หลักสูตร 4 ปี ให้กับนักศึกษาภาคปกติและเปิดหลักสูตร 2 ปี (หลังอนุปริญญา) ตามโครงการอบรมครูประจำการ (อคป.) เป็นการเปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีเป็นรุ่นแรกของภาควิชา


พ.ศ. 2527 นักศึกษา คบ.อุตสาหกรรมศิลป์

ภาคปกติสำเร็จเป็นบัณฑิตรุ่นแรกของบัณฑิตภาคปกติของภาควิชาอุตสาหกรรมศิลป์


พ.ศ. 2528 วิทยาลัยได้ปรับเปลี่ยนโครงการอบรมครูประจำการ (อคป.) เป็นโครงการจัดการศึกษาสำหรับบุคลากรประจำการ (กศ.บป.) และภาควิชาอุตสาหกรรมศิลป์ ได้เปิดสอนสาขาวิชา วิทยาศาสตร์ ระดับอนุปริญญา (อ.วท.) โปรแกรมวิชาไฟฟ้าและโปรแกรมวิชาเครื่องกล เป็นรุ่นแรกให้กับนักศึกษา (กศ.บป.) ในปีนี้นักศึกษา ค.บ. อุตสาหกรรมศิลป์ ตามโครงการอบรมครูประจำการ (อคป.) ของภาควิชาอุตสาหกรรมศิลป์ สำเร็จเป็นบัณฑิตรุ่นแรก


พ.ศ. 2531 เปิดสอนสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ ระดับปริญญาตรี 2 ปี หลังอนุปริญญา (วท.บ.) โปรแกรมวิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (แขนงเทคโนโลยีการผลิต) ให้กับนักศึกษาโครงการ กศ.บป. เป็นรุ่นแรก


พ.ศ. 2533เปิดสอนนักศึกษา ระดับปริญญาตรี(วท.บ.)โปรแกรมวิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (แขนงเทคโนโลยีการผลิต) ให้กับนักศึกษาภาคปกติ


พ.ศ. 2537 สภาการฝึกหัดครูได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2537 ให้จัดตั้ง คณะวิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ในวิทยาลัยครูทั่วประเทศรวม 8 แห่ง ซึ่งจากมติดังกล่าว ภาควิชาอุตสาหกรรมศิลป์ จึงได้รับการยกฐานะเป็นคณะวิชา และได้เสนอขอแต่งตั้งกรรมการบริหารคณะวิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมต่อวิทยาลัย และสภาวิทยาลัยได้แต่งตั้งให้นายมงคล การชำนาญ เป็นหัวหน้าคณะวิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม บริหารงานในรูปแบบ คณะวิชา เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2537 โดยแยกการบริหารออกจากคณะวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทางคณะถือว่าวันที่สภาการฝึกหัดครูมีมติเห็นชอบให้จัดตั้งคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม วันที่ 28 กรกฎาคม 2537 เป็นวันเกิดของคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม


พ.ศ.2537 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ ตรา “ พระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ พ.ศ. 2538” โดยให้สถาบันราชภัฏเป็นสถาบันอุดมศึกษา เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นมีอธิการบดีเป็นผู้บริหารสถาบัน คณบดีเป็นผู้บริหารคณะและสถาบันได้แต่งตั้งให้ นายวิชิต ศรีทอง เป็นคณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม


พ.ศ. 2539 สถาบันได้รับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินให้สร้างอาคารเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (5 ชั้น) เป็นแห่งแรก ของสถาบันราชภัฏทั่วประเทศ


พ.ศ. 2540 สถาบันได้ปรับเปลี่ยนโครงการจากการศึกษาสำหรับบุคลากรประจำการ (กศ.บป.) เป็นการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน (กศ.ปช.)


พ.ศ. 2541 มีพิธีเปิดอาคารเทคโนโลยีอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 โดยมีเจ้าคุณอุดมประชานาถ (หลวงพ่อเปิ่น) เจ้าอาวาสวัดบางพระ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และ นายจรูญ ถาวรจักร์ อธิการบดี อธิการบดี สถาบันราชภัฏเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานฝ่ายฆารวาส และคณะได้ย้ายเข้ามาดำเนินการที่อาคารเทคโนโลยีอุตสาหกรรม


พ.ศ. 2542 กระทรวงศึกษาธิการได้มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องการแบ่งส่วน ราชการภายในสถาบันราชภัฏเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตามมาตรา 6 และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ พ.ศ. 2538 โดยให้มี คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม เป็นคณะหนึ่งของสถาบันราชภัฏเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกาศ ณ วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2542 (ตามหน้า 39 เล่ม 116 ตอนพิเศษ 79 ง. ราชกิจจานุเบกษา 12 ตุลาคม 2542)


พ.ศ. 2543 สภาสถาบันราชภัฏได้แต่งให้ นายวิชิต ศรีทอง เป็นคณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมคนแรกตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการดังกล่าว


พ.ศ. 2546 สถาบันราชภัฏเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น สถาบันราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สภาสถาบันราชภัฏได้แต่งให้ นายประจบ ดีบุตร เป็นคณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม


พ.ศ. 2547 วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ได้มีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 121 ตอนพิเศษ 27 ก ให้ สถาบันราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็น มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดปทุมธานี โดยมี นายประจบ ดีบุตร เป็นคณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม


พ.ศ. 2548 วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2548 สภามหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้แต่งตั้งให้ นายวิวัฒน์ คลังวิจิตร เป็นคณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดปทุมธานี


พ.ศ. 2550 วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2550 สภามหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้แต่งตั้งให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจบ ดีบุตร เป็นคณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดปทุมธานี จนถึงวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2554


พ.ศ. 2554 วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2554 สภามหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้แต่งตั้งให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจบ ดีบุตร เป็นคณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดปทุมธานี

 

พ.ศ. 2558 วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 สภามหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้แต่งตั้งให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์เบญจลักษณ์ เมืองมีศรี เป็นคณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดปทุมธานี

 

พ.ศ. 2562 วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 สภามหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้แต่งตั้งให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์เบญจลักษณ์ เมืองมีศรี เป็นคณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดปทุมธานี จนถึงปัจจุบัน